รู้จัก PM2.5 มลพิษทางอากาศที่คนไทยต้องเจอ

ช่วงปลายปีจนถึงต้นปีในปีหลังๆ มานี้พบว่าคนไทยเจอกับวิกฤติปัญหา PM2.5 ที่วนเวียนมาเป็นวัฏจักรอยู่ทุกปี อย่างในปีนี้ที่เพิ่งผ่านการเฉลิมฉลองในวันปีใหม่มาเพียงไม่กี่วัน ก็ต้องกลับมาเผชิญกับ “ภัยฝุ่น PM2.5” ที่กลับมาอีกหน อย่างในวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้ออกมาเตือนว่าค่าฝุ่นอาจพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศปิดมากที่สุดในรอบเดือนนี้ โดยเฉพาะช่วงเย็นที่การจราจรหนาแน่น ซึ่งจะมีการสะสมของฝุ่นและมลพิษสูงต้องระวังเป็นพิเศษ หลายคนคงจะสงสัยว่าฝุ่น PM2.5 ที่สร้างปรากฎการณ์ครองเมืองอยู่ขณะนี้นั้นมาจากที่ไหนกันบ้าง

 

ความร้ายความร้ายแรงของฝุ่น PM2.5 นี้คือการที่มันสามารถผ่านการกรองของขนจมูกของคนเราเข้าไปสู่ชั้นในของปอดได้โดยตรง อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากการสูดฝุ่นแบบนี้เข้าไปทำให้เลือดข้นขึ้นส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นได้ ที่มาของฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพนี้หลักๆ แล้วมาจากไอเสียจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลหรือจากการจราจร และยังมีปัญหาการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ่านหิน หรือการเผาไหม้เศษวัสดุเหลือใช้ของภาคการเกษตรเพื่อเตรียมการเพราะปลูก การเผาขยะ การเผาป่า ประกอบกับปัจจัยทางธรรมชาติช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากหนาวสู่ร้อน อากาศค่อนข้างปิด การกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำก็จะทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 สะสมในอากาศมากขึ้น

 

เกณฑ์วัดคุณภาพอากาศของประเทศไทย แบบออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

AQI PM2.5 (mg/m3)

เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต่อเนื่อง

ความหมาย สีที่ใช้ คำอธิบาย
0 – 25 0 – 25 คุณภาพอากาศดีมาก ฟ้า คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว
26 – 50 26 – 37 คุณภาพอากาศดี เขียว คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ
51 – 100 38 – 50 ปานกลาง เหลือง ประชาชนทั่วไป : สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ
ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
101 – 200 51 – 90 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส้ม ประชาชนทั่วไป : ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น
ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์
201 ขึ้นไป 91 ขึ้นไป มีผลกระทบต่อสุขภาพ แดง ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

แนวทางการป้องกันฝุ่น PM2.5 ด้วยตนเองเบื้องต้น

  1. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ดีและมีประสิทธิภาพคือ หน้ากาก N95
  2. พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากจำเป็นต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองเมื่ออยู่ข้างนอกอาคาร
  3. ใช้เครื่องฟอกอากาศ เนื่องจากภายในอาคารอาจไม่ปลอดภัยจาก PM2.5 เสมอไป โดยเฉพาะอาคารที่มีการเปิดปิดประตูบ่อยครั้งจากการที่มีผู้คนเข้าออกจำนวนมาก ดังนั้นเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันเพื่อให้หายใจในอาคารอย่างสบาย

ติดตามระดับคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครเขตต่างๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี่ http://mellowmatic.com/pm2.5/