Storage Server ทางเลือกใหม่สำหรับการจัดเก็บข้อมูล

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี SAN Storage จัดได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงมาก แทบทุกองค์กรต้องมีการซื้อหามาใช้ ซึ่งส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะแรงผลักดันจากความนิยมของ VMware ที่แนะนำให้ติดตั้งบน SAN Storage นั่นเอง แต่มาในวันนี้ทาง Throughwave Thailand ก็ขอเสนอทางเลือกในการจัดเก็บข้อมูลอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะทำให้คุณมีอิสระในการเลือกองค์ประกอบที่เหมาะสมกับระบบที่คุณต้องการที่สุด ในราคาที่เหมาะสมที่สุด นั่นคือการนำ Server เฉพาะทางสำหรับการจัดเก็บข้อมูลมาใช้ ซึ่งมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า Storage Server นั่นเอง

ภาพตัวอย่าง Storage Server จาก Supermicro

Storage Server เป็นยังไง?

Storage Server ก็คือ Server ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้จัดเก็บข้อมูลโดยเฉพาะครับ โดยมากก็มักจะมีความโดดเด่นในเรื่องของจำนวน Hard Disk ที่สามารถใส่ได้ครับ ซึ่งถ้าเป็น Hard Disk แบบ 3.5″ ก็อาจจะใส่ได้ตั้งแต่ 12 ลูก, 24 ลูก, 36 ลูก และถ้าเป็น Hard Disk แบบ 2.5″ ก็อาจจะใส่ได้ตั้งแต่ 24 ลูก ไปจนถึง 72 ลูกครับ โดยกินพื้นที่เพียงไม่เกิน 4U เท่านั้น

และถ้าหากพื้นที่เพียงเท่านั้นยังไม่พอ Storage Server เองก็สามารถทำการเชื่อมต่อไปยัง External Hard Disk หรือที่เราเรียกกันว่า JBOD ได้เช่นกันครับ โดยอาจจะเชื่อมต่อไปได้ถึง 64 ลูก, 128 ลูก หรือแม้แต่ 240 ลูกครับ

สำหรับ CPU หรือ RAM นั้น เราก็สามารถเลือกใส่ลงไปใน Storage Server ได้อย่างค่อนข้างอิสระเหมือนกับการเลือกซื้อ Server เลยครับ โดยสามารถใช้ได้ทั้ง CPU จาก Intel, AMD ทั้งแบบ Single CPU, Dual CPUs หรือ Multiple CPUs ตั้งแต่ 2-10 Cores ครับ

ภาพตัวอย่าง RAID Controller ประสิทธิภาพสูง

Storage Server ดีกว่า SAN Storage อย่างไร?

ข้อที่ดีที่สุดของ Storage Server คือ “ความสะดวกสบายในการใช้งาน” ครับ เนื่องจากในหลายๆ ครั้งเราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีพื้นที่มหาศาล ซึ่งถ้าเราเลือกไปใช้ SAN Storage เราก็จะต้องสั่งซื้อ Server 1 ชุด และ SAN Storage สำหรับ Disk 24 ลูกอีก 1 ชุด ใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 5U บนตู้ Rack อย่างแน่นอน และผู้ดูแลระบบต้องเรียนรู้การใช้งานถึง 2 ระบบด้วยกัน ในขณะที่ถ้าหากเราใช้เป็น Storage Server เลย ก็จะเป็นการสั่งซื้อ Storage Server เพียงชุดเดียว เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังใช้พื้นที่เพียงแค่ 4U เท่านั้น และผู้ดูแลระบบก็สามารถดูแลระบบได้อย่างง่ายดาย เหมือนดูแล Server ทั่วๆ ไปเท่านั้น

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบ Backup Server, Disaster Recovery, File Sharing หรือ CCTV Server เอง ก็สามารถนำ Storage Server ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

ภาพตัวอย่าง External Expansion Storage หรือ JBOD จาก Supermicro ซึ่งสามารถติดตั้ง Hard Disk ได้ทั้งจากด้านหน้าและด้านหลังรวมกันได้มากถึง 45-88 ลูก ในพื้นที่เพียง 4U

Storage Server ประสิทธิภาพสู้ SAN Storage ได้หรือเปล่า?

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของ Storage Server คือ “ความมีอิสระในการเลือก Hardware” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของ CPU, RAM, RAID Card, Hard Disk ที่เราเลือก ล้วนส่งผลต่อความเร็วของการให้บริการไฟล์ข้อมูลทั้งสิ้นครับ

ดังนั้นถ้าหากเราอยากได้ Storage ที่มีพื้นที่เยอะๆ ประเด็นทางด้านประสิทธิภาพเราก็อาจให้ความสำคัญน้อยลงก็ได้ แต่ถ้าหากเราอยากได้ Storage ที่มีประสิทธิภาพสูงๆ การเลือกใช้ RAID Controller ที่มีประสิทธิภาพสูงและมี Cache เยอะๆ ก็อาจเป็นทางเลือกที่เพียงพอ และเร็วกว่า SAN Storage บางยี่ห้อเสียอีก ในขณะที่การเพิ่ม RAM ให้กับระบบ ก็จะทำให้การให้บริการ File Service ประเภทต่างๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปด้วย

หรือแม้แต่การเลือก Hard Disk ได้อย่างอิสระ ก็อาจทำให้เราสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Solid State Drive หรือ Fusion-IO มาใช้ร่วมกับ Hard Drive แบบทั่วๆ ไปอย่าง SAS/SATA เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ และย้งคงมีพื้นที่การใช้งานเยอะได้เช่นกันครับ ซึ่งความยืดหยุ่นนี้เป็นสิ่งที่ SAN Storage ไม่สามารถให้คุณได้ในราคาที่เท่ากันอย่างแน่นอน

ส่วน Interface สำหรับการให้บริการแบบ External Storage นั้น ตัว Storage Server เองก็สามารถเลือกได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการนำ 1GbE, 10GbE หรือแม้กระทั่ง 20/40Gbps Infiniband มาใช้งานเลย ก็สามารถทำได้ครับ

ความเสถียรของ Storage Server จะสู้ SAN Storage ได้หรือไม่?

เนื่องจากคุณสามารถเลือกองค์ประกอบของ Storage Server ได้เองอยู่แล้ว ดังนั้นการออกแบบให้ระบบมี Redundancy ภายในหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่คุณสามารถเลือกได้เช่นกัน โดย Storage Server จะรองรับการทำ Redundant Back Plane เพื่อให้สามารถ Failover ได้เมื่อมี Interface ใดของ Back Plane เสียหาย ในขณะที่ Hardware ส่วนอื่นๆ เช่น Power Supply และ Fan System ก็สามารถเลือกใช้งานแบบ Redundant ได้อยู่แล้ว

สำหรับการปกป้องข้อมูล Storage Server นั้นสามารถทำ RAID ได้ตามความสามารถของ RAID Card ที่เลือกใช้ ซึ่งก็จะมีตั้งแต่ RAID 0, 1, 5, 6, 10, 50, 60 และยังสามารถทำ Hot Spare Drive ได้อีกด้วย ในขณะที่ความสามารถในการทำ Snapshot หรือ Replication นั้นจะขึ้นอยู่กับ Software ที่นำมาใช้ ซึ่งก็มีทั้งที่เป็น Freeware และ Commercial ให้เลือกใช้ได้ตามอัธยาศัย

ภาพตัวอย่างการทำ Database Sharding

ตัวอย่างการใช้งาน Storage Server

ในกรณีที่ผู้ใช้งานต้องการระบบในลักษณะที่เป็น DAS หรือเชื่อมต่อ Server เข้ากับ Storage โดยตรงเลยนั้น การนำ Storage Server มาใช้จะช่วยลดจำนวน Hardware ลง โดยให้ Operating System ทำการเชื่อมต่อกับ Hard Drives ผ่านทาง RAID Controller ภายในตรงๆ เลย ทำให้มีคอขวดของระบบน้อยลง, มีประสิทธิภาพสูงขึ้น, มีปัญหาความไม่เข้ากันของฮาร์ดแวร์น้อยลง และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจครับ

ในขณะที่ถ้าหากต้องการระบบ SAN การนำ Storage Server มาใช้ จะต้องทำการติดตั้ง Storage Software หรือ Storage Operating System เข้าไปก่อน ไม่ว่าจะเป็น FreeNAS, Openfiler หรือ Nexenta ซึ่งจะทำให้ Storage Server สามารถให้บริการ SAN แบบ Fibre Channel, iSCSI, Fibre Channel over Ethernet และให้บริการ NAS แบบ CIFS, NFS, FTP/FTPS, HTTP/HTTPS ได้ รวมถึงมีความสามารถในการทำ Snapshot, Local Replication และ Remote Replication ได้นั่นเองครับ

ส่วนทางเมืองนอก สิ่งที่ฮิตมากๆ คือการนำ Storage Server ไปใช้งานเป็น Cloud Storage และนำไปใช้ใน NoSQL Database ครับ เนื่องจากงานทั้งสองประเภทต่างก็ต้องการหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูง, ความยืดหยุ่นในการเลือกใช้ฮาร์ดแวร์ และราคาที่ประหยัด ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักที่ระบบที่ต้องใช้จำนวนเครื่อง Server จำนวนมากอย่าง Cloud Storage และ NoSQL จึงเลือกใช้ Storage Server เป็นตัวเลือกแรกสุดเสมอๆ ครับ

ตัวอย่างการ์ด 10GbE สำหรับติดตั้งใน Storage Server

อย่างนี้เลิกใช้ SAN Storage เลยดีหรือเปล่า?

SAN Storage เองก็ยังมีจุดแข็งของตัวเองครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าทางผู้ดูแลระบบต้องการจะใช้ SAN แบบจริงจัง ร่วมกับ Server จำนวนมากๆ การเลือกใช้ SAN Storage ก็จะตัดปัญหาเรื่องการศึกษา Software Storage ที่ต้องลงใน Storage Server ไป หรือถ้าระบบที่มีอยู่ต้องการเพิ่มเพียงแค่ Cache แต่ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านั้น การใช้ SAN Storage ก็ยังถือว่าสะดวกดีอยู่ครับ

ดังนั้นจริงๆ กรณีที่ Storage Server จะสามารถมาแทน SAN Storage ได้เกือบแน่นอน ก็คือกรณีที่จะใช้ Server เพียงชุดเดียว ต่อกับ Storage เพียงตัวเดียวครับ ในกรณีนี้ Storage Server สามารถทำได้ดีกว่า SAN Storage ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและราคา

ส่วนกรณีที่เราอยากจะทำ SAN อันนี้จึงค่อยมาพิจารณากันอีกทีครับ ว่าเราอยากเหมาะจะใช้ Storage Server หรือ SAN Storage มากกว่ากัน ส่วนอันนี้เป็นตัวอย่างของ Storage Server บางส่วนนะครับ 😀

สำหรับบทความนี้ก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ โดยถ้าหากใครอยากปรึกษาเรื่องการใช้งาน Storage Server หรือกำลังพิจารณาระบบ Storage อยู่ ทาง Throughwave Thailand ก็ยินดีให้คำปรึกษาโดยทีมงานที่มีประสบการณ์ทั้งด้าน Storage Server และ SAN Storage นะครับ

สวัสดีครับ

———-

บทความโดย Throughwave Thailand

ท่านสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ https://www.throughwave.co.th

1 reply

Comments are closed.